ในช่วงที่ผ่านมาเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินเรื่องกองทุนที่มีกลยุทธ์การลงทุนที่เรียกกันว่า Income Investing กันมาบ้างไม่มากก็น้อย และในวันนี้จะมาทำความรู้จักกับ Income Investing กันให้มากขึ้น โดยที่สิ่งนี้เรียกว่า
Income portfolio คือกลยุทธ์การบริหารเงินลงทุนเพื่อมุ่งสร้างรายได้แบบสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นรายเดือน รายไตรมาส รายครึ่งปี หรือรายปี โดยพยายามไม่แตะต้องเงินต้น วิธีการโดยทั่วไปของรูปแบบการลงทุนนี้จะลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีการจ่ายผลตอบแทนในรูปของเงินปันผล ดอกเบี้ย ค่าเช่า ฯลฯ ที่มีอัตราผลตอบแทนและความสม่ำเสมอที่พอจะประมาณการได้ เช่น หุ้นที่มีการจ่ายปันผลเป็นประจำ พันธบัตรหรือหุ้นกู้ที่มีการจ่ายดอกเบี้ยเป็นงวดๆ กองทุนอสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ที่มีการรับค่าเช่าเป็นรายงวด และนำผลตอบแทนหรือ Income ที่รับมารวบรวมและจ่ายออกไปให้แก่ผู้ลงทุน เพื่อให้มีกระแสเงินสดออกไปใช้อย่างสม่ำเสมอ โดยอาจให้ความสำคัญกับการเติบโตหรือการทำกำไรจากส่วนต่างราคา (Capital gain) เป็นอันดับรอง
กลยุทธ์การลงทุนนี้เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้เกษียณอายุที่ต้องการผลตอบแทนมาทดแทนรายได้ที่เคยได้รับจากงานประจำ โดยมีหลักการง่ายๆ หรือ Rule of Thumb ที่คิดโดย William P. Bengen ในปี ค.ศ. 1994 และยังคงนำมาอ้างอิงกันอยู่ถึงปัจจุบัน หรือที่เรียกกันว่า The 4% Rule โดยตัวเลข 4% คือประมาณการอัตราที่ ผู้เกษียณสามารถถอนเงินออกมาจากเงินก้อนที่เตรียมไว้สำหรับชีวิตหลังเกษียณต่อปี โดยคาดว่าน่าจะทำให้ ผู้เกษียณมีเงินเพียงพอไปตลอดชีวิตหลังเกษียณ ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆ คือ ถ้าต้องลงทุนในอะไรก็ตามที่สามารถให้ผลตอบแทน 4% หลังปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อ แล้วนำเงินที่ได้จากการลงทุนนี้มาใช้ เช่น ณ วันที่คุณเกษียณมีเงินเก็บ 10 ล้านบาท และนำไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทน 4% หรือ 400,000 บาทต่อปี หรือ 33,333 บาทต่อเดือน ก็จะทำให้คุณมีเงินเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายไปตลอด
การหาผลตอบแทนที่ระดับ 4% ต่อปี ฟังดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรนัก แต่ชีวิตจริงในโลกของการลงทุนมีความผันผวน ตัวอย่างเช่น ในช่วง 5 ปีแรก หากคุณลงทุนที่ให้ผลตอบแทนเป็น 0% และในขณะเดียวกันคุณก็ต้องนำเงินเก็บนั้นออกมาใช้เพื่อการดำรงชีพประจำวันปีละ 400,000 บาท 5 ปี รวมทั้งหมดเป็นเงิน 2 ล้านบาท เงินเก็บ 10 ล้านบาท ของคุณได้ลดลง 20% เหลือเพียง 8 ล้านบาท นั่นก็หมายความว่าคุณจะต้องนำเงินจำนวนนี้ไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทน 5% เพื่อให้มีกระแสเงินสดออกมาปีละ 400,000 บาทเหมือนเดิม โดยยังไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ที่อาจทำให้เงิน 400,000 บาท ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพในแต่ละปี